เมนู

[อรรถาธิบาย คำว่า นิรพฺพุทโท เป็นต้น]


บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า นิรพฺพุโท คือเว้นจากเสนียด. พวกโจร
ท่านเรียกว่า เสนียด. อธิบายว่า หมดโจร. ก็ในอรรถนี้ พวกภิกษุผู้ทุศีล
ท่านประสงค์เอาว่า เป็นโจร. จริงอยู่ ภิกษุผู้ทุศีลเหล่านั้น ย่อมลักปัจจัย
ของคนเหล่าอื่น เพราะเป็นผู้มิใช่สมณะ แต่มีความสำคัญว่าเป็นสมณะ เพราะ
เหตุนั้น ภิกษุสงฆ์ไม่มีเสนียด ไม่มีโจร มีอธิบายว่า ไม่มีคนทุศีล. บทว่า
นิราทีนโว ได้แก่ ไม่มีอุปัทวะ คือไม่มีอุปสรรค. มีคำอธิบายว่า เว้นจาก
โทษของผู้ทุศีลทีเดียว. ผู้ทุศีลแล ท่านเรียกว่า คนดำ ในคำว่า อปคตกาฬโก
นี้. จริงอยู่ ผู้ทุศีลเหล่านั้น แม้เป็นผู้มีวรรณะดุจทองคำ พึงทราบว่า เป็น
คนดำทีเดียว เพราะประกอบด้วยธรรมดำ. เพราะไม่มีคนมีธรรมดำเหล่านั้น
จึงชื่อว่า อปคตกาฬก. ปาฐะว่า อปหตกาฬก ก็มี. บทว่า สุทฺโธ คือ
ชื่อว่าบริสุทธิ์ เพราะมีคนดำปราศไปแล้วนั่นเอง. บทว่า ปริโยทาโต คือ
ผุดผ่อง. คุณคือศีล สมาธิ ปัญญา วิมุตติ และวิมุตติญาณทัสสนะ ท่านเรียกว่า
สาระ ในคำว่า สาเร ปติฏฺฐิโต นี้. เพราะตั้งอยู่แล้วในสาระนั้น จึงชื่อว่า
ตั้งอยู่ในสารคุณ. พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นตรัสความที่ภิกษุสงฆ์ตั้งอยู่ใน
สารคุณอย่างนี้แล้ว เมื่อจะทรงแสดงอีกว่า ก็ความที่ภิกษุสงฆ์นั้นตั้งอยู่ใน
สารคุณนั้น พึงทราบอย่างนี้ จึงตรัสคำมีอาทิว่า อิเมสํ หิ สารีปุตฺต.
ในคำนั้น มีการพรรณนาโดยสังเขปดังต่อไปนี้ :-
บรรดาภิกษุ 500 รูปนี้ ผู้เข้าพรรษา ณ เมืองเวรัญชา ภิกษุที่
ต่ำต้อยด้วยอำนาจคุณ คือมีคุณต่ำกว่าภิกษุทุกรูป ก็เป็นพระโสดาบัน คำว่า
โสตาปนฺโน คือ ผู้ตกถึงกระแส. ก็คำว่า โสโต นี้ เป็นชื่อของมรรค.
คำว่า โสตาปนฺโน เป็นชื่อของบุคคลผู้ประกอบด้วยมรรคนั้น. เหมือนอย่าง

ที่ตรัสไว้ว่า (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสถามว่า) สารีบุตร ! ที่เรียกว่า โสตะ
โสตะ นี้ โสตะ เป็นไฉนหนอแล สารีบุตร ? (เพราะสารีบุตรกราบทูลว่า)
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็อริยมรรคมีองค์แปดนี้แล คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ
สัมมาสมาธิ ชื่อว่า โสตะ. (พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า) สารีบุตร ! ที่เรียกว่า
โสดาบัน โสดาบัน นี้ โสดาบันเป็นไฉนหนอแล สารีบุตร? (พระสารีบุตร
กราบทูลว่า) ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ก็บุคคลผู้ซึ่งประกอบด้วยอริยมรรคมี
องค์แปดนี้ เรียกว่า โสดาบัน ท่านผู้มีอายุนี้นั้น มีชื่ออย่างนี้ มีโคตรอย่าง*นี้.
ก็ในบทนี้พึงทราบว่า มรรคให้ชื่อแก่ผล เพราะฉะนั้น บุคคลผู้ตั้งอยู่ในผล
ชื่อว่า โสดาบัน. บทว่า อวินิปาตธมฺโม มีวิเคราะห์ว่า ธรรมที่ชื่อว่า
วินิบาต เพราะอรรถว่า ให้ตกไป. พระโสดาบันชื่อว่า อวินิปาตธรรม
เพราะอรรถว่า ท่านไม่มีวินิปาตธรรม. มีคำอธิบายว่า ท่านไม่มีการยังตนให้
ตกไปในอบายเป็นสภาพ. เพราะเหตุไร? เพราะความสิ้นไปแห่งธรรมเป็นเหตุ
นำไปสู่อบาย. อีกอย่างหนึ่ง การตกไป ชื่อว่าวินิบาต. พระโสดาบัน ชื่อว่า
อวินิปาตธรรม เพราะอรรถว่า ท่านไม่มีธรรมที่ตกไป. มีคำอธิบายว่า
ความตกไปในอบายเป็นสภาพ ไม่มีแก่ท่าน.*
ชื่อว่า เป็นผู้เที่ยง เพราะเป็นผู้แน่นอนด้วยมรรค ที่กำหนดด้วยความ
เป็นธรรมถูก. ชื่อว่า เป็นผู้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า เพราะอรรถว่า พระโสดาบัน
นั้นมีความตรัสรู้เป็นไปในเบื้องหน้า คือเป็นคติข้างหน้า. อธิบายว่า พระ-
โสดาบันนั้น จะทำตนให้ได้บรรลุถึงมรรค 3 เบื้องบนแน่นอน. เพราะเหตุไร?
เพราะท่านได้ปฐมมรรคแล้วแล.
* สํ. มหา. 19/434-534.

ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นทรงยังพระธรรมเสนาบดี ให้
ยินยอมอย่างนั้นแล้ว ทรงยับยั้งอยู่ตลอดพรรษานั้นในเมืองเวรัญชา เสด็จออก
พรรษาปวารณาในวันมหาปวารณาแล้ว จึงตรัสเรียกท่านพระอานนท์มา.
บทว่า อามนฺเตสิ ความว่า ได้ทรงเรียก คือได้ทรงตรัสเรียก
ได้แก่ ทรงเตือนให้รู้.
ถามว่า ทรงเตือนให้รู้ว่าอย่างไร ?
แก้ว่า ทรงเตือนให้รู้เรื่องมีอาทิอย่างนี้ว่า อาจิณฺณํ โข ปเนตํ.
บทว่า อาจิณฺณํ คือเป็นความประพฤติ เป็นธรรมเนียม ได้แก่
เป็นธรรมดา.

[อาจิณณะ ความเคยประพฤติมามี 2 อย่าง]


ก็ความเคยประพฤติมานั้นนั่นแล มี 2 อย่าง คือ พุทธาจิณณะ
(ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) 1 สาวกาจิณณะ (ความเคยประพฤติ
มาของพระสาวก) 1.
พุทธาจิณณะ (ความเคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) เป็นไฉน ?
ข้อว่า พระตถาคตทั้งหลายยังมิได้บอกลา คือยังมิได้อำลาผู้ที่นิมนต์ให้อยู่จำ
พรรษาแล้ว จะไม่หลีกไปสู่ที่จาริกในชนบท ดังนี้ นี้เป็นพุทธาจิณณะ (ความ
เคยประพฤติมาของพระพุทธเจ้า) ข้อหนึ่งก่อน. ส่วนพระสาวกทั้งหลาย จะ
บอกลาหรือไม่บอกลาก็ตามย่อมหลีกไปได้ตามสบาย.
ยังมีพุทธาจิณณะแม้อื่นอีก คือ :- พระพุทธเจ้าทั้งหลายเสด็จอยู่จำ
พรรษาปวารณาแล้ว ย่อมเสด็จไปสู่ที่จาริกในชนบททีเดียว เพื่อทรงสงเคราะห์
ประชาชน.